หอนาฬิกาอำเภอบ้านโฮ่ง
10 ต.ค. 2567
รายละเอียด:
หอนาฬิกาอำเภอบ้านโฮ่ง
ประวัติความเป็นมา
อำเภอบ้านโฮ่ง ถือเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบห่างจากตัวเมืองลำพูนมาทางทิศใต้ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศของอำเภอบ้านโฮ่ง มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบระหว่างหุบเขา ซึ่งวางตัวยาวตามแนวเทือกเขาตามแกนทิศเหนือ – ทิศใต้ มีแม่น้ำลี้ไหลผ่านกลางที่ราบ จากลักษณะภูมิประเทศดังกล่าว พื้นที่แอ่งที่ราบอำเภอบ้านโฮ่ง จึงมีความสำคัญในฐานะชุมชนที่ตั้งบนเส้นทางโบราณที่ปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างผู้คนในแอ่งที่ราบลี้(ซึ่งสามารถติดต่อกับแอ่งที่ราบภาคกลาง) และผู้คนในแอ่งที่ราบเชียงใหม่ – ลำพูน ดังพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของบรรพชนในพื้นที่บ้านโฮ่งไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี และมีพัฒนาการมาจนถึงในช่วงระยะเวลาต่อมา
อำเภอบ้านโฮ่ง ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างหอนาฬิกา และได้ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2530 บนพื้นที่สาธารณะบ้านป่าป๋วยหมู่ 3 ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยนายอำเภอเนติ อวิรุทธนานนท์ ร่วมกับนายอำนวย จันทร์หลวง ผู้ใหญ่บ้าน บ้านป่าป๋วยสมัยนั้น ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านโฮ่ง และได้รับ ความเมตตาจากหลวงพ่อบุญเย็น ในการช่วยกันสร้างหอนาฬิกา เพื่อเป็น สัญลักษณ์ของอำเภอบ้านโฮ่ง และเพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 เมื่อสุขาภิบาลตำบลบ้านโฮ่งได้ยกฐานะขึ้น เป็นเทศบาลตำบลบ้านโฮ่ง หอนาฬิกาจึงได้อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบล บ้านโฮ่งมาจนถึงปัจจุบัน และได้ทำการปรับปรุงครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2548 และครั้ง 2 พ.ศ.2558
ความสำคัญ
สร้างไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอบ้านโฮ่ง และเป็นอีกจุดเช็คอิน แลนด์มาร์คของอำเภอบ้านโฮ่งบนถนนทางหลวงแผ่นดินสาย 106 (ลี้ - ลำพูน) ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ประชาชนอำเภอบ้านโฮ่งสามารถใช้พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และเป็นเส้นทางแยกสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวทั้งภายในจังหวัดลำพูน เช่น ศูนย์อนุรักษ์นกยูงไทยบ้านโฮ่ง ณ เขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่า ป่าบ้านโฮ่ง ศูนย์นวดแผนไทย หอไตรวัดป่าป๋วย บ้านป่าป๋วย ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน หรือนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดที่ต้องการเดินทางต่อไปยังอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ หรือจังหวัดแม่ฮ่องสอน
อ้างอิงข้อมูลจาก: หอศิลป์ 100 ปี อำเภอบ้านโฮ่ง
ผู้ให้ข้อมูล: นายวสันต์ ปันคำ
รูปภาพ
ไฟล์เอกสาร